ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์มักจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ประสิทธิภาพทางด้านความคิดและความจำมักจะบกพร่อง บายรายไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบร่างกายตัวเองได้ เช่น ไม่ยอมทานอาหาร หรือบางทีก็ทานทั้งวันไม่ยอมหยุด บางรายก็ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ และบางรายกมักจะมีอาการประสาทหลอนและหลงละเมอ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกหลานควรจะเป็นฝ่ายที่ต้องดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาและเข้าใจสภาพของผู้ป่วยเหล่านั้นให้ได้ดี ดังนั้นคนที่มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลควรที่จะรู้เคล็ดลับการดูแลผู้ป่วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ คนที่ดูแลหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดควรมีความอดทนสูง เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์แปรปรวน คนที่ดูแลต้องเป็นคนใจเย็นและรู้จักการยืดหยุ่น ไม่ต่อว่าหรือดุด่าผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น
ต้องเป็นคนช่างสังเกต และควรจะรู้ว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยไปกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาทางอารมณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรง และดูว่าผู้ป่วยชอบอะไรเป็นพิเศษ และการมีอารมณ์ขันจะทำให้ช่วยลดความรู้สึกเครียดทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลเอง
สำหรับเทคนิคการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าผู้ดูแลมีสัมพันธภาพที่ดี ทั้งจากสายตา ท่าทาง น้ำเสียง และการสัมผัส ในการพูดคุยควรเลือกใช้คำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน พูดช้า ๆ พูดชัด ๆ และประโยคสั้น ๆ พูดด้วยคำพูดที่สุภาพ ขณะพูดคุยควรมีการสบตากับผู้ป่วย ควรลดสิ่งรบกวนในขณะที่เรากำลังพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีสมาธิในการสื่อสาร
ควรเรียกชื่อผู้ป่วยบ่อย ๆ เพื่อให้เป็นการช่วยเตือนความจำ พยายามชวนคุยในเรื่องดี ๆ ทั้งในอดีตมาถึงปัจจุบันที่ผู้ป่วยคุ้นเคยเพื่อจะได้มีการพูดโต้ตอบ และควรตอบคำถามผู้ป่วยอย่างช้า ๆ และใช้คำที่เข้าใจได้ง่ายๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยมักจะมีคำถามซ้ำๆ ผู้ดูแลควรหาเรื่องเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่เรื่องอื่นๆ ไม่ควรไปล้อเลียนคำพูดหรือพฤติกรรมของผู้ป่วย
บ้านไหนที่มีผู้ป่วยคนในบ้านทุกคนควรจะหมุนเวียนกันทำหน้าที่ อย่าปล่อยให้อยู่ในความดูแลของคนใดคนหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว เพราะจะทำให้ผู้ดูแลผู้นั้นอาจเกิดความรู้สึกเครียดขึ้นได้.