โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)


สำหรับผู้หญิงที่มักจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด กินอะไรเข้าไปแล้วก็อิ่มง่าย จุกเสียด ปัสสาวะบ่อย ๆ ก็อย่าวางใจ นอกจากอาการเหล่านี้แล้วก็อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เบื่ออาหาร และอาจมีเลือดออกในช่องคลอดร่วมด้วย คุณรู้หรือไม่ว่าคุณอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้ โดยทั่วไปแล้วโรคมะเร็งทุกชนิดจะเหมือนกันคือยิ่งทำการตรวจพบเร็ว การรักษาก็จะได้ผลดี สำหรับโรคมะเร็งรังไข่ก็เช่นกันมักจะวินิจฉัยได้ช้า เนื่องจากอยู่ภายในช่องท้อง และมักจะไม่มีอาการในช่วงระยะแรกของโรค แต่หากค้นพบแรกเริ่มจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากมีคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งรังไข่มาก่อน ควรรีบไปทำการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทุกปี เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคดังกล่าวได้

สาเหตุโรคมะเร็งรังไข่ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจริงๆ แล้วเกิดมาจากสาเหตุใด แต่จะพบเหตุส่งเสริมที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้ ดังนี้คือ

1.สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร เนื่องจากพบว่าในประเทศอุตสาหกรรมมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ มากกว่าประเทศเกษตรกรรม

2.สตรีที่ไม่สามารถมีบุตรได้ หรือมีบุตรน้อย

3.ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มีมากกว่าคนปกติ


ลักษณะอาการของโรคมะเร็งรังไข่

1. เริ่มแรกอาจไม่มีอาการ ซึ่งแพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญ

2. มีอาการท้องอืดเป็นประจำ

3. มีลักษณะเป็นก้อนอยู่ในท้องน้อย

4. ปวดแน่นท้อง หากก้อนมะเร็งโตมากก็จะกดกระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ส่วนปลาย ทำให้ถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระลำบาก

5. ในระยะท้าย ๆ อาจมีน้ำในช่องท้อง ทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม เบื่ออาหาร ผอมแห้ง น้ำหนักลด

การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่

1.การตรวจภายในอาจคลำพบก้อนในบริเวณท้องน้อย การคลำพบก้อนในรังไข่ได้ในสตรีวัยหมดประจำเดือน ควรนึกถึงมะเร็งรังไข่ไว้ด้วย (เพราะตามปกติวัยหมดประจำเดือน รังไข่จะฝ่อ)

2.การทำแปปสเมียร์จากในช่องคลอดส่วนบนทางด้านหลัง อาจพบเซลล์มะเร็งของรังไข่ได้

3.การตรวจด้วยเครื่องความถี่สูง อาจช่วยบอกได้ว่ามีก้อนในท้อง ในรายที่อ้วน หรือหน้าท้องหนามากคลำด้วยมือตามปกติจะตรวจไม่พบ

4.การผ่าตัดเปิดช่องท้อง และตรวจดูเป็นวิธีที่สำคัญ และแม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยโรคอย่างแน่นอน สามารถขริบ หรือตัดเอาเนื้อมาตรวจหาชนิดของมะเร็ง และทราบถึงระยะของโรคร้าย

การป้องกันโรคมะเร็งรังไข่

เนื่องจากการเป็นโรคมะเร็งรังไข่ในระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการบ่งบอกให้ทราบ อีกทั้งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดได้อย่างแท้จริง การป้องกันจึงทำได้ยากมาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ควรรับการตรวจภายใน หรือตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงโดยแพทย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

สำหรับการรักษาจะทำด้วยวิธีการผ่าตัดซึ่งจะเป็นวิธีแรกที่แพทย์จะเลือกทำการรักษา ถ้าไม่สามารถตัดออกได้หมด เนื่องจากโรคได้กระจายออกไปมากแล้ว แพทย์จะพยายามตัดส่วนที่เป็นออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจะให้การรักษาต่อด้วยเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด

ข้อมูลจาก www.healthcorners.com

 
Design by Pitchaya.net | Bloggerized by สูตรอาหาร | ขายลำไยอบแห้ง ลองกานอยด์ Health Lover นิ้วล็อค สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน