อาการยังไงที่คุณถึงจะรู้ว่าเป็น “ นิ้วล็อค ”



สำหรับคนวัยทำงานหลายๆ คนอาจจะพบว่าตัวเองกำลังมีอาการแปลกๆ เกิดขึ้นกับนิ้วมือของตัวเอง แต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ จะใช่อาการนิ้วล็อคหรือเปล่า ต้องมาดูอาการของการเกิดนิ้วล็อคกันเลยค่ะ โดยจะเริ่มจากมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ แล้วจะกำมือค่อยไม่ถนัด จะกำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงตอนเช้าหลังตื่นนอน พอเริ่มใช้มือไปสักพักหนึ่งก็จะกำมือได้ดีขึ้น เวลางอไว้ซักพักพอจะเหยียดนิ้วมือ ก็จะได้ยินเสียงดังกึก ต่อมาจะมีของอาการนิ้วล็อค คือ เวลางอนิ้วมือแล้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างที่ถนัดที่ใช้งานบ่อยๆ นิ้วที่ที่พบว่าเป็นบ่อย ได้แก่ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วกลาง และนิ้วนาง หรืออาจจะเป็นเพียงนิ้วเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงถึงขั้นนิ้วบวมชา ติดแข็งจนใช้งานไม่ได้ ซึ่งได้มีการแบ่งระยะของ “ นิ้วล็อค ” ตามลักษณะอาการของโรค เป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะแรก มีเพียงอาการปวดเป็นอาการหลัก โดยจะเริ่มปวดมากบริเวณโคนนิ้วมือ และจะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้ว มือด้านหน้า แต่จะยังไม่พบว่ามีอาการติดสะดุด

2. ระยะที่สอง จะพบว่ามีอาการสะดุด (triggering) เป็นอาการหลัก และอาการปวดก็มักจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย เวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียด จะมีการสะดุดจนเจ้าตัวรู้สึกได้

3. ระยะที่สาม จะมีอาการติดล็อคเป็นอาการหลักๆ โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีก ข้างมาช่วยแกะ หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

4. ระยะที่สี่ มีอาการอักเสบปวดบวมมากขึ้น จนนิ้วบวมติดอยู่ในท่างอเล็กน้อย ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถ้าใช้มือมาช่วยเหยียดจะปวดมาก

ทีนี้ก็พอจะรู้แล้วใช่มั๊ยคะว่าเรามีอาการเป็นนิ้วล็อคหรือเปล่า ถ้าใช่เราก็มาดูวิธีการดูแลตนเองจากอาการนิ้วล็อคกันค่ะ

1. ไม่ควรขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่มีอาการเป็นนิ้วล็อกเล่น ซึ่งจะอาจทำให้เส้นเอ็นเกิดการอักเสบมากขึ้นได้
2. ถ้ามีอาการข้อฝืดร่วมด้วย คือกำนิ้วไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่มือลงไปในน้ำอุ่นจัดๆ และบริหารโดยการขยับมือกำแบเบาๆ อยู่ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือค่อยๆ เคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
3. หากจำเป็นจะต้องกำหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น ไม้กอล์ฟ ตะหลิวทำอาหาร หรือหิ้วของ ควรหาผ้าหรือฟองน้ำมาพันรอบๆ หรือใช้ถุงมือจับจะช่วยลดแรงกดหรือเสียดสีลง

แต่หากพบว่าเวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดขึ้นเองไม่ได้แล้ว ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เมื่อพบว่าเป็นโรคนิ้วล็อก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจังและถูกวิธีจะดีกว่าค่ะ

 
Design by Pitchaya.net | Bloggerized by สูตรอาหาร | ขายลำไยอบแห้ง ลองกานอยด์ Health Lover นิ้วล็อค สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน