ปฎิบัติตัวอย่างไรไม่ให้นอนกรน


เสียงกรนเป็นเสียงที่น่ารำคาญสำหรับคนที่นอนอยู่ข้างๆ แต่เป็นอันตรายสำหรับคนที่นอนกรน ทราบหรือไม่ว่าการกรน (Snoring) เกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะนอนหลับจนทำให้ช่องคอแคบลง ซึ่งส่งผลให้ต้องหายใจเข้าออกแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อทางเดินหายใจแคบลงจนถึงจุดหนึ่ง ความแรงของลมหายใจที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อภายในระบบทางเดินหายใจ ก็จะทำให้เกิดเสียงกรนตามมา นอกจากนี้การกรนยังเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการปิดกั้นของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อภายในระบบทางเดินหายใจ อย่าง ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอ หรืออาจเกิดจากสารหล่อลื่นในระบบทางเดินหายใจลดลง ทำให้เกิดอาการแห้ง และบวม ทางเดินหายใจจึงแคบลง เมื่อหายใจจึงเกิดเป็นเสียงกรน

อัตราการกรนจะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะ ผู้สูงวัย คนอ้วน ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบ ผู้ที่ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป นอกจากนี้การดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด กินยานอนหลับก็จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรนได้ เพราะถ้าหากช่องคอแคบลงอีกเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตันในช่องคอแบบชั่วคราว ทำให้ลมหายใจเข้าออกขาดหายไปชั่วขณะ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากใครมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากขืนปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้อย่างเช่น โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง อัมพาต ตลอดจนทำให้มีปัญหากับคนที่นอนใกล้ชิด

ปฎิบัติตัวอย่างไรไม่ให้นอนกรน
1. ควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการนอนกรน เพราะไขมันที่ไปสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจ จะถูกเบียดให้เล็กลง โดยเฉพาะขมันที่สะสมอยู่บริเวณหน้าอกและท้องก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้น และต้องใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น

2. การออกกำลังกาย ควรหมั่นออกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับเนื้อเยื่อภายในปากจะได้ไม่หย่อนลงมาจนขัดขวางช่องทางเดินหายใจ

3. การจัดท่านอน การนอนตะแคงงอข้อศอก จะสามารถช่วยป้องกันการหายใจเข้าออกทางปากได้ เพราะมือข้างหนึ่งจะไปยันคางไว้เพื่อเป็นการปิดปาก นี่ก็เป็นอีกวิธีป้องกันไม่ให้นอนกรน

4. ยกศีรษะให้สูงขึ้น หากไม่สามารถนอนตะแคงได้จริงๆ ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นนอนหงายแล้วใช้หมอนเล็กๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนเกิดเสียงกรนได้

5. ควรดูแลรักษาที่นอนให้สะอาด เพื่อไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น เศษฝุ่น และเศษขนสัตว์

6. อย่าให้มีสิ่งกีดขวางในโพรงจมูก ควรทำความสะอาดช่องจมูกก่อนนอน จะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวก

7. เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน หากนอนในห้องที่มีอากาศแห้งเกินไป จะทำให้เยื่อบุต่างๆในระบบทางเดินหายใจพลอยแห้งตามไปด้วย บางรายอาจเกิดอาการบวมและทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการนอนกรนในที่สุด

 
Design by Pitchaya.net | Bloggerized by สูตรอาหาร | ขายลำไยอบแห้ง ลองกานอยด์ Health Lover นิ้วล็อค สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน