อาการปวดไหล่


อาการปวดไหล่ที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 2 ชนิด
1. ชนิดเฉียบพลัน มักจะเป็นอาการปวดไหล่ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่จะเป็นการปวดแบบชั่วคราว เมื่อรับการรักษาก็จะเห็นผลได้เร็ว
2. ชนิดเรื้อรัง อาการปวดไหล่ชนิดนี้มักจะเป็นๆ หายๆ และจะเป็นได้นาน การรักษาไม่ค่อยจะได้ผลที่แน่นอน

สาเหตุของการปวดไหล่ที่พบได้บ่อย
1. เกิดจากเอ็นอักเสบ เอ็นมีหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกกับกล้ามเนื้อ เมื่อเอ็นบริเวณนั้นได้รับการกระทบกระเทือนหรือมีการออกแรงมากเกินไป มักจะเกิดการฉีกขาด และมีการอักเสบร่วม ทำให้รู้สึกปวดมากเมื่อมีการเคลื่อนไหวไหล่ ในบางรายไม่สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้เลย อาการเช่นนี้มักเกิดกับนักกีฬา หรือคนทำงานแบกหาม
2. เกิดจากกล้ามเนื้อและเอ็นเสื่อมสภาพ มักพบมากในผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ใช้มานานจะเสื่อมสภาพลง ส่วนที่พบบ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อและเอ็นที่มีหน้าที่หมุนหัวไหล่ หรือที่เรียกว่า Rotator Cuff
3. เกิดจากถุงหุ้มข้ออักเสบ ถุงหุ้มข้อเป็นอวัยวะที่อยู่ระหว่างกระดูก เอ็น กล้มเนื้อ มีหน้าที่ลดการเสียดสีระหว่างกระดูกและอวัยวะดังกล่าว เมื่อถุงหุ้มข้อได้รับแรงกระแทกมากเกินไป ถุงหุ้มข้อที่ลื่นและช่วยหล่อลื่นข้อจะเกิดการอักเสบ เกิดการฝืด ทำให้ข้อไหล่เคลื่อนไหวผิดปกติ หรือเคลื่อนไหวไม่ได้
4. เกิดจากข้ออักเสบ เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นในข้อไหล่ เนื่องจากมีการแตกของกระดูกอ่อนที่คลุมข้อ ทำให้เกิดอาการปวด บวม และเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ลำบาก
5. เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับข้อไหล่ แต่เนื่องจากข้อไหล่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทและกระดูกคอ ดังนั้นหากมีเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ข้อไหล่อักเสบ หรือกระดูกต้นคอทับเส้นประสาท ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดไหล่ได้เช่นกัน

วิธีรักษาอาการปวดไหล่เบื้องต้นด้วยตัวเอง
1. ควรพักการใช้ข้อไหล่ เมื่อไม่ให้มีการขยับเขยื้อนไหล่ ซึ่งจะทำให้การปวดไหล่ที่เกิดจากสาเหตุการอักเสบดีขึ้น แต่ไม่ควรพักนานเกินไป อาจทำให้เกิดข้อไหล่ติดได้
2. ควรประคบเย็น กรณีที่ปวดไหล่เฉียบพลันภายใน 24 ชม. การประคบเย็นจะช่วยลดอาการปวดบวมของไหล่ได้ หากปวดนานเกิน 24 ชม. การประคบร้อนจะช่วยลดอาการปวดบวมของไหล่ได้เช่นกัน การประคบร้อนควรหลีกเลี่ยงในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อบริเวณข้อ
3. ใช้ยาแก้ปวด ควรปรึกษาเภสัชกรในการเลือกใช้ยา ซึ่งจะได้ผลในกรณีที่มีการอักเสบเกิดขึ้น แต่จะไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย ถ้าอาการปวดไหล่เกิดจากการเสื่อมสภาพทางข้อไหล่

หากรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในเชิงลึกอย่างถูกต้องต่อไป

 
Design by Pitchaya.net | Bloggerized by สูตรอาหาร | ขายลำไยอบแห้ง ลองกานอยด์ Health Lover นิ้วล็อค สารสกัดงาดำ เอมมูร่า เซซามิน